วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การบริโภคไข่กับไขมันในเลือด


เป็นที่ทราบกันดีว่าไขมันสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและปริมาณไขมันในไข่ ก็มีปริมาณค่อนข้างสูง ทำให้แพทย์มักจะแนะนำให้ลดการรับประทานไข่ แต่จากการศึกษาพบว่า การรับประทานไข่วันละฟองไม่เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจ และมีผลต่อระดับไขมันน้อยมาก นอกจากนั้นในไข่แดงยังมี โปรตีน วิตามินบี 12 วิตามินดี ไรโบฟลาวิน และโฟเลท ซึ่งช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ดังนั้น จึงแนะนำว่าคนปกติสามารถรับประทานได้ทุกวัน


            จากผลการทดลอง พบว่าการบริโภคไข่ไม่ได้ทำให้ระดับ LDL-C หรือ คอเลสเตอรอลตัวร้ายที่เข้าไปอุดตันผนังเส้นเลือดสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการรับประทานไข่ในระยะยาว 12 สัปดาห์กลับทำให้ระดับไขมัน HDL-C หรือ คอเรสเตอรอลที่มีประโยชน์ ซึ่งสามารถเข้าไปละลายหรือนำพา LDL-C ให้ออกมาจากผนังเส้นเลือดนั้นสูงขึ้นมาก จากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าการรับประทานไข่ติดต่อกันทุกวันในคนวัยทำงานสุขภาพดีนั้น ไม่มีผลเสียต่อระดับไขมันในเลือดแต่กลับมีผลดีต่อระดับไขมันในเลือดด้วยซ้ำ

            ตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีข้อแนะนำจากนักวิชาการหลายคน แนะนำว่าให้ลดการรับประทานอาหารประเภทคอเลสเตอรอล เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น และมีการพูดถึงการจำกัดการรับประทานไข่ เพราะไข่แดงมีสารคอเลสเตอรอลสูง และจากการเผยแพร่ความเข้าใจดังกล่าวผ่านสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้เกิดการลดการบริโภคไข่ลง ทั้งที่ในความเป็นจริงไข่ไก่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ โดยไข่ไก่ 1 ฟอง น้ำหนักมาตรฐาน 50 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 71 แคลอรี มีสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ โปรตีน 6.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม, ไขมันรวม 6.9 กรัม, โอเมก้า-6 0.67 กรัม, โอเมก้า-3 0.07 กรัม, ไขมันอิ่มตัว 1.53 กรัม, คอเลสเตอรอล 213 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ไข่ยังเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินเอ, วิตามินดี, กรดโฟลิก, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม, ซีลิเนียม เป็นต้น โดยในส่วนของไข่แดงนั้น มีคอเลสเตอรอลมากเป็น 2 ใน 3 ของข้อกำหนดในการรับประทานไขมันต่อวัน แต่คอเลสเตอรอลในไข่แดงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกาย

            ในความเป็นจริงแล้ว คอเลสเตอรอลที่อยู่ในอาหารไม่ได้แปลงไปเป็นคอเลสเตอรอลในเลือดโดยตรง ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด 80-90% นั้นร่ายกายสามารถสร้างได้เองจากตับ และวัตถุดิบหลักของตับในการสร้างคอเลสเตอรอลคือ น้ำตาล โดยปริมาณที่สร้างจะแปรผันตามน้ำหนักตัว นั่นหมายถึงคนที่อ้วนจะมีการสร้างคอเลสเตอรอลในเลือดมากกว่าคนที่ผอม ทั้งนี้ ไขมันอิ่มตัวมีส่วนสัมพันธ์กับการเพิ่มคอลเลสเตอรอลในเลือดจริง ดังนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันอิ่มตัวเช่น เนย ครีม น้ำมันหมู น้ำมันจากสัตว์ เป็นต้น


            ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคไขมันในเส้นเลือดสูงอยู่แล้ว การรับประทานไข่ต่อเนื่องกันนั้น ตามหลักการแล้วคอเลสเตอรอล เป็นสารที่ร่างกายผลิตได้เองโดยตับ และในทฤษฎีนั้นไข่ไม่มีผลเสียใดๆ โดยในต่างประเทศมีการเก็บข้อมูลพบว่า ไข่ไม่ได้เป็นตัวเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยรองรับในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เคยมีการทดลองกับผู้ป่วย เรื่องนี้จึงยังคงเป็นคำถามที่จะต้องทำวิจัยต่อไปในอนาคต

            สมัยก่อนเชื่อว่าโรคหลอดเลือดแข็งเริ่มต้นตั้งแต่วัยกลางคน แต่ปัจจุบันเชื่อว่าโรคหลอดเลือดแข็งเริ่มตั้งแต่เด็ก และเป็นมากขึ้นอย่างอย่างช้าๆ จนเกิดอาการในผู้ใหญ่ นอกจากนั้นยังพบอีกว่าโรคหลอดเลือดหัวใจตีบพบในคนอายุยุน้อยลง โดยพบว่า

                        - โรคหลอดเลือดแข็งเริ่มก่อตัวตั้งแต่เด็ก

                        - ระดับคอลเลสเตอรอลที่สูงตั้งแต่เด็ก จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งในผู้ใหญ่

                        - พฤติกรรมในการรับประทานอาหารและกรรมพันธุ์ จะมีผลต่อระดับไขมันและการเกิดโรคหัวใจ

                        - การลดไขมันตั้งแต่เด็กจะมีประโยชน์ในการป้องกันหลอดเลือดแข็ง


            เกณฑ์มาตรฐาน ระดับไขมันในเด็กอายุ 2-19 ปี

            Total คอเลสเตอรอล น้อยกว่าหรือเท่ากับ 200 mg/ml

            LDL น้อยกว่าหรือเท่ากับ 130 mg/dl


การศึกษาการออกกำลังกายกับการเพิ่มระดับไขมัน HDL

            เป็นที่ทราบกันดีว่ายังไม่มียาที่จะสามารถเพิ่มระดับไขมัน HDL การที่จะเพิ่มระดับ HDL ทำได้โดยการลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การบริโภคสารอาหารบางชนิด เช่น กระเทียม น้ำมันปลา น้ำมัน Krill Oil โดยได้มีการวิจัยที่ Ochanomizu University, Tokyo, Japan โดย Dr.Satoru Kodama และคณะได้ศึกษาทบทวนการศึกษาตั้งแต่ปี 1966-2005 ทั้งหมด 25 รายงาน


            โดยมีผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหมด 200 คนจาก 14,000 คน ให้มีการออกกำลังกาย 8-27 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง จำนวนครั้งของการออกกำลังประมาณ 3.7 ครั้งต่อสัปดาห์ ในระยะเวลาของการออกกำลัง 40 นาทีต่อครั้ง และพลังงานที่ใช้ในการออกกำลังมากกว่า 1,000 แคลลอรีต่อสัปดาห์

            ผลการศึกษาพบว่า

                        - ระดับไขมัน HDL เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.53 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น


                        - ผู้ที่ออกกำลังกายมากกว่า 120 นาทีต่อสัปดาห์ ก็จะมีไขมัน HDL เพิ่มขึ้น

                        - ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง จะได้ผลดีกว่าผู้ที่มีไขมันในเลือดต่ำ

                        - ทุก 10 นาทีที่ออกเพิ่ม จะทำให้ไขมัน HDL เพิ่มขึ้น 1.4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็น

                        - ทุก 1 มิลิกรับ HDL ที่เพิ่มจะลดอัตราการเกิดโรคหัวใจในชายและหญิงเท่ากับร้อยละ 5.1 และ 7.6 ตามลำดับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น