วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ยาลดระดับไขมันในเลือด


ยาลดระดับไขมันในเลือด

            จากความรู้พื้นฐานด้านการเกิดโรคและการวัดระดับของโปรตีนซี ที่ตอบสนองการอักเสบแบบไวสูง หรือ High Sensitivity C-Reactive Protein (hsCRP) ซึ่งพบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าค่าไขมันคอเลสเตอรอลเสียอีก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข่างต้น ปัจจุบันนี้องค์ความรู้ของเราชี้ชัดว่าการอักเสบ เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังพบอีกว่าฤทธิ์ในการป้องกันหลอดเลือดของยาลดไขมันกลุ่มสแตติน (Statin) อาจไม่ได้มาจากการลดไขมันโดยตรง แต่มาจากฤทธิ์รวมหลายอย่างประกอบกันที่เรียกว่า Pleiotropic Effect โดยเฉพาะฤทธิ์ในการลดการอักเสบ เนื่องจากสแตตินลดระดับของการอักเสบในหลายขบวนการโดยผ่านทางผลโดยตรงที่พยาธิสภาพของหลอดเลือด และผ่านทางการเปลี่ยนแปลงขบวนการตอบสนองในระยะเฉียบพลันที่ตับ


            การศึกษาที่ผ่านมา Paul M Ridder และคณะได้รายงานไว้ใน New England Journal of Medicine January 6, 2005; 352:20-28 เขาค้นพบว่า อัตราการรอดชีวิตตลอดจน อัตราการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ เป็นไปในทางที่ดีขึ้นโดยสัมพันธ์กับการลดลงของค่า CRP หลังจากให้ยาลดไขมันสแตตินกับผู้ป่วยเป็นหลัง โดยไม่ได้สัมพันธ์กับการลดลงของค่าไขมัน LDL แต่อย่างใด การศึกษาครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นถึงความเหมาะสม ที่ก่อนหน้าที่ในปี 2004 องค์กรการแพทย์หลักๆ อย่างเช่น สมาคมโรคหัวใจและวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน ได้ประชุมกันแล้วประกาศให้ลดค่าเกณฑ์มาตรฐานของไขมัน LDL ลง ทั้งในกลุ่มคนแข็งแรงและในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งทำให้ยาลดไขมันสแตติน (Statin) ขายได้มากเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งตีพิมพ์ใน Cochorane Systematic Review ยังพบอีกว่า Statin ให้ประโยชน์น้อยมากในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังไม่แนะนำให้ใช้

            Ward Casscells, MD จากสถาบันโรคหัวใจเทกซัส มหาวิทยาลัยเทกซัส-ฮูสตั้น เสนอแนะในที่ประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องพลาคนิ่ม ครั้งที่ 5 (The 5th Vulnerable Plaque Symposium) กล่าวว่า Statin ไม่ได้ดีอย่างที่คิดแต่มันถูกยกยอมากเกินไป (Overrated)

            จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่ทั้ง 6 ครั้ง เกี่ยวกับ Statin (4S, LIPID, WOSCOPS, HPS, CARE, AFCAPS/TexCAPS) ไม่มีการศึกษาใดแสดงให้เห็นว่า Statin สามารถลดอัตราการตายลงในปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ คำถามแรกคือ Statin ช่วยได้ทันเวลาหรือเปล่า คำตอบคือไม่ทันเวลา เพราะในปีแรกอัตราการตายเท่ากับยาหลอก คำถามที่สองคือ Statin ปกป้องได้ดีหรือไม่ คำตอบคือไม่ดีพอ เพราะ 42% ของการเสียชีวิตจากเหตุการณ์หัวใจและหลอดเลือดทั้งหมดในการศึกษานี้ เกิดขึ้นในกลุ่มที่ได้รับ Statin นั่นแปลว่าไม่ว่าจะเริ่มใช้หรือไม่ได้ใช้ Statin ผลระยะยาวแตกต่างกันไม่มากในด้านโอกาสเสียชีวิตจากภาวะฉุกเฉินทางหลอดเลือดหัวใจ

            ทำไมการป้องกันจึงช้า ทั้งที่ฤทธิ์ในการลดการอักเสบและลดไขมันเกิดขึ้นตั้งแต่หลัง 6 สัปดาห์ แต่อัตราการตายกลับไม่ลดลงและเลื่อนไปอย่างน้อย 12 เดือน จึงค่อยๆ ลดอัตราการตายได้ แสดงว่ามีปัจจัยบางอย่างไปขัดขวางประโยชน์ของ Statin ในปีแรก

            เนื่องจากยาลดไขมันกลุ่ม Statin แม้ว่าจะใช้โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความเสี่ยงในโรคหัวใจ แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั่นคือ ลดได้เพียงแค่ระดับคอเลสเตอรอลเท่านั้น นอกจากนี้ ในด้านผลระยะยาวพบว่าผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้ว่าจะทานยาลดไขมันกลุ่ม Statin ก็มีจำนวนเสียชีวิตใกล้เคียงกับกลุ่มที่ไม่ได้ทานยา ข้อมูลเหล่านี้เป็นผลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาขนาดใหญ่ของบริษัทผู้ผลิตยาลดไขมันกลุ่ม Statin ที่ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในด้านของผลิตภัณฑ์

            Statin คือ ยายับยั้งเอ็นไซม์ HMG-CoA Reductase โดยการไปยับยั้งการทำงานของเอ็นไซน์ ซึ่งทำหน้าที่สร้างคอเลสเตอรอลที่ตับ จากการศึกษาผู้ป่วย 900 รายที่ใช้ยา Statin พบว่าได้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง แต่เราอาจจะได้รับรู้เพียงแค่ผลข้างเคียงที่พบบ่อย นั่นก็คือเกิดกล้ามเนื้ออักเสบ ชาวอเมริกันหลายล้านคนอาจได้ยา Statin โดยไม่จำเป็น เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลง Guideline ในด้านของเป้าหมายไขมันในเลือดโดยสมาคมแพทย์หัวใจและวิทยาลัยแพทย์หัวใจ ทั้งที่การศึกษาถัดมาอีกหนึ่งปีได้ข้อสรุปว่า Statin อาจไม่มีประโยชน์กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย แต่สิ่งสำคัญก็คือเราได้ตระหนักถึงผลข้างเคียงอื่นๆ อีกหรือไม่ นั่นรวมไปถึงผลข้างเคียงรุนแรง เช่น เซลล์ตับถูกทำลาย สมองเสื่อม เป็นต้น

            จากการศึกษา ผลข้างเคียงจากยาในประเทศสวีเดนของสถาบัน Swedish Adverse Drug Reaction Advisory Committeeตั้งแต่ปี ค.ศ.1988-2010 พบว่าผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือผลกระทบต่อตับและพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ป่วยถึง 57% ที่ใช้ยา Statin นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาในประเทศอังกฤษและเวลล์ พบว่ามีผู้ที่ใช้ยา Statin กว่า 2 ล้านราย (อายุตั้งแต่ 30-84 ปี) มีความเสี่ยงต่อการทำงานของตับผิดปกติ ผลข้างเคียงของ Statin ต่อตับจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่ใช้ยาลดไขมันอื่นร่วมด้วย เช่น Gemfibrozil หรือ Niacin

            จากการตรวจสอบข้อมูลรายงานผลข้างเคียงจากยาของ FDA สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลา 2 ปี 5 เดือน คือในเดือนพฤศจิกายน 1997 ถึงเดือนมีนาคม 2000 พบโรคกล้ามเนื้ออักเสบลีบฝ่อ ซึ่งเกิดจากผู้ใช้ยาลดไขมัน Statin จำนวน 871 ราย และเสียชีวิตจำนวน 138 ราย

            จากการศึกษาในประเทศเดนมาร์กปี 2002 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาลดไขมัน มีโอกาสเกิดโรคปลายประสาทเสื่อม (Peripheral neuropathy) มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยานี้ถึง 14 เท่า

            นักวิจัยบางคนศึกษาพบว่ายาลดไขมัน Statin อาจเชื่อมโยงกับภาวะสูญเสียความจำ รวมไปถึงโรคไขสันหลังแข็งฝ่อ ALS แม้ว่าจะมีหลักฐานไม่มาก แต่ก็มากพอที่จะทำให้องค์กรอาหารและยาของสหรัฐ สั่งให้เพิ่มคำเตือนลงไปในฉลากยาลดไขมัน Statin ว่าผู้ที่ได้รับประทานยา Statin อาจเกิดภาวะสูญเสียความจำไปจนถึงเกิดอาการสับสนได้

            ยาลดไขมัน Statin ยังมีผลทำให้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานประเภทที่สองเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงนี้ บริษัทยาแย้งว่ามีไม่มาก แต่เชื่อหรือไม่ว่ามันมากพอที่ FDA สั่งให้เพิ่มคำเตือนนี้ลงไปในฉลากยาว่า การกินยาลดไขมันทำให้เป็นโรคเบาหวานมากขึ้น

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษา Clinical Cardiology พบว่าการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจของผู้ที่ไม่ได้รับยา Statin นั้น ดีกว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับยา Statin อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากงานวิจัยนี้ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การใช้ยา Statin นั้นมีส่วนในดารลดประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ อันจะนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวายได้


            เนื่องจากฤทธิ์ของยาลดไขมันกลุ่ม Statin เกิดขึ้นในระดับเอนไซม์ที่อยู่ในระบบการสร้างคอเลสเตอรอล และเป็นระบบเดียวกับการสร้างโคเอนไซม์คิวเทน ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ร้างกายต้องใช้ในวัฏจักรสร้างพลังงาน จึงส่งผลให้ระดับโคเอนไซม์คิวเทนในเลือดลดลงอย่างมากด้วย

            การลดลงของระดับโคเอนไซม์คิวเทน ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเซลล์จะขาดพลังงานและขาดสารสำคัญที่คอยเก็บกวาดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเซลล์ ในที่สุดก็จะเกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น Oxidative Stress ซึ่งส่งผลย้อนกลับมาทำลายโครงสร้างของดีเอ็นเอ และทำลายโรงงานผลิตพลังงานในเซลล์ Mitochondria ส่งผลให้ขบวนการหายใจ และขบวนการสร้างพลังงานในเซลล์ต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง ระบบประสาท กล้ามเนื้อ ฯลฯ ผิดปกติไป และก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยึด หายใจไม่คล่อง หลงลืม สามารถส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ หรือเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เกิดโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น

            มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วโลกในด้านประสาทวิทยา ทำการศึกษาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และได้รายงานในวารสาร The Journal Archives of Neurology เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2004 พบว่าหลังจากให้ยา Atorvastatin ซึ่งเป็นยาลดไขมันในกลุ่ม Statin นาน 14 วัน ระดับของโคเอนไซม์คิวเทนในเลือด ลดลงไปถึง 49% และอาจลดลงไปสูงถึง 60%

            การศึกษานี้ สรุปผลว่าถึงแม้จะได้รับยา Atorvastatin ในช่วงสั้นๆ ก็มีผลต่อการลดลงของระดับปริมาณ Co-Q10 ในกระแสเลือดและอาการข้างเคียงในผู้ป่วยซึ่งได้รับยานี้ โดยปัจจุบันมีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย แต่แพทย์มักจะไม่ได้แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานโคเอนไซม์คิวเทนเสริมควบคู่ จึงสามารถอธิบายผลของอาการต่างๆ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ (Myalgia), พบโปรตีนของกล้ามเนื้อในปัสสาวะ Myoglobinuria อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ทั้งนี้ยาตัวอื่นในกลุ่ม Statin drugs ต่างก็มีผลระงับการสร้างโคเอนไซม์คิวเทนเช่นกัน เช่น ยา Cerivostatin (Baycol) ก็มีผลอย่างรุนแรงในการยับยั้งการสร้าง Co-Q10 และได้ถูกห้ามใช้ไปแล้วเนื่องจากมีอาการไม่พึงประสงค์มากมาย รวมทั้งทำให้มีคนเสียชีวิตไปจำนวนมากด้วย


            บางคนถือว่า Co-Q10 เป็นสารอาหารมหัศจรรย์ อย่างที่ได้บอกในตอนต้นว่ามันเป็นสารที่จำเป็นต่อการสร้างพลังงานในเซลล์ต่างๆ หากขาด Co-Q10 แล้วก็จะทำให้เซลล์ไม่สามารถทำงานหรือตายได้ โดยเฉลี่ยแล้วอาหารที่รับประทานต่อวันจะได้รับ Co-Q10 เพียง 1 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งไม่เพียงพอสำหรับคนทั่วๆ ไป สาร Co-Q10 เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย เป็นสาระสำคัญที่ช่วยให้หัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น มีการศึกษามากมายที่มีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นว่าการรับประทาน Co-Q10 ทดแทน สามารถช่วยลดการเกิดอาการปวดอย่างรุนแรงในโรคหัวใจ (Angina) ทำให้หัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจ มีการทำงานดีขึ้น และลดอาการของโรคหัวใจและการเสียชีวิตลง นอกจากนี้ Co-Q10 ยังพบว่ามีประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ การทำงานของไต เคยมีรายงานพบผู้ป่วยที่มีอาการไตวายระยะสุดท้ายมีอาการดีขึ้น เมื่อได้รับ Co-Q10 นอกจากนี้ มันยังมีประโยชน์ต่อระบบประสาทส่วนกลางอีกด้วย โดยมีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดไมเกรนที่รับประทาน Co-Q10 นั้น มีอาการดีขึ้น

            แต่จากข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ กลับไม่มีการประกาศเตือนใดๆ เลยจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าการใช้ยา Statin จะทำให้เกิดการลดลงของระดับ Co-Q10 ในร่างกาย แม้กระทั่งแพทย์หลายๆ คนก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะแจ้งข้อมูลนี้แก่ผู้ป่วย ซึ่งต่างกับประเทศแคนาดามีการประกาศเตือนอย่างชัดเจนว่าการลดลงของ Co-Q10 หรือ การขาดสารอาหารชนิดนี้ อาจทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้ ซึ่งเมื่อเราขาด Co-Q10 แล้วจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้

            การศึกษาทดลองทางคลินิกขนาดใหญ่เกี่ยวกับยาลดไขมัน Statin ทั้ง 6 มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงซึ่งรายงานอยู่ในผลการวิจัย แต่ไม่ได้นำมาเป็นข้อมูลอ้างอิง เพราะการศึกษาเหล่านั้นเน้นที่ผลลัพธ์ หรือประโยชน์ของยาลดไขมัน ในการลดอัตราการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ไม่ได้รายงานผลค้างเคียงที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น CARE Trial พบอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้น 1,500% ในกลุ่มที่ได้รับยาลดไขมัน Statin

            ใน PROSPER Trial พบว่าอัตราตายจากโรคหัวใจลดลง แต่อัตราตายจากโรคมะเร็งและเส้นเลือดสมองเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราตายรวมไม่แตกต่างกัน โดยใน PROSPER Trial ไม่ได้มีการวิเคราะห์อัตราการเกิดโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นไว้ แต่ผู้นำข้อมูลจาก PROSPER ไปวิเคราะห์ในระยะเวลา 4 ปี หลังจากได้รับยาลดไขมันไปแล้ว อัตราการเกิดโรคมะเร็งของกลุ่มที่ได้ยาลดไขมันกลับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมี Hazard ratio อยู่ที่ 1.25; CI 1.04-1.51


            การศึกษาขนาดใหญ่ ALLHAT Trial ในช่วงที่บริษัทยาลดไขมันนำเสนอ ก็จะบอกข้อมูลการลดอัตราการตายเฉพาะในช่วงที่ดูดีเท่านั้น แต่ไม่ได้นำข้อมูลที่เป็นทางลบออกมาให้ดู ในวารสาร Journal of Nutrition, Allred J. ได้นะข้อมูลจาก ALLHAT Trial มาวิเคราะห์อัตราการตายพบว่าในปีที่ 5 ทั้งอัตราการตายจากทุกสาเหตุ และรวมถึงอัตราการตายจากโรคหัวใจ ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นผลด้านลบ เพราะผู้ให้ข้อมูลล้วนมีธุรกิจยาหมื่นล้านอยู่เบื้องหลัง ยิ่งถ้าพิจารณาในประเด็นที่ว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาลดไขมันนั้น มักจะต้องใช้ยาไปนานเป็นสิบปีขึ้นไป โดยที่ปัญหาด้านผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อสลาย ปลายประสาทอักเสบ หลงลืม ฯลฯ ก็ไม่ได้มีการพูดถึงมากนัก

            อย่างไรก็ตาม เอกสารที่เป็นทางการเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาลดไขมัน Statin นั้นแสดงตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของผลข้างเคียงที่ค่อนข้างต่ำ เพราะเลือกนำข้อมูลมาจากการศึกษาในระยะสั้นๆ และยังดูเหมือนจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการปกปิดข้อมูลที่เป็นด้านลบเอาไว้ด้วยการไม่กล่าวถึง

            Marc A. Silver รายงานใน American Journal of Cardiology 2004 พบว่า 70% ของผู้ที่ได้ยาลดไขมัน Statin ในระยะเวลา 6 เดือน มีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอ และยังพบอีกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอที่เกิดขึ้นจากยาลดไขมัน สามารถกลับคืนเป็นปกติได้เมื่อเสริมด้วยโคเอนไซม์คิวเทน ผู้ใช้ยาถึง 70% ที่เกิดผลข้างเคียงนี้ นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง

            ตรงกับรายงานของ Langsjoen PH et. Al. Biofactors 2005;25(1-4):147-52 พบว่าผลข้างเคียงของการใช้ยาลดไขมัน Statin ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ Statin Induced Cardiomyopathy พบสูงมากกว่าที่เคยรายงานไว้ในการศึกษาอื่นๆ มาก และภาวะนี้สามารถหายได้เมื่อหยุดยา Statin และเริ่มให้โคเอนไซม์คิวเทน ผู้วิจัยยังรายงานด้วยว่าไม่พบผลเสียหายใดๆ จากการหยุดใช้ยาลดไขมัน Statin

            ส่วนผลการศึกษาแบบ Systematic Review ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจในอเมริกันโดย Marcoff L. รายงานว่ายาลดไขมันสแตตินทำให้ลดระดับโคเอนไซม์คิวเทน และก่อให้เกิดความเสื่อของไมโทคอนเดรีย (โรงงานผลิตพลังงานในเซลล์) โดยจะมีปัญหามากขึ้นเมื่อมีการออกกำลังกาย แต่การใช้โคเอนไซม์คิวเทนเสริมเพื่อลดผลข้างเคียงนั้น รายงานชิ้นยังพบรายงานสนับสนุนน้อย จำเป็นต้องศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบวงกว้างและออกแบบมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ เนื่องจากเป็นโคเอนไซม์คิวเทนไม่มีความเป็นพิษ และการเสริมโคเอนไซม์คิวเทนนั้นมีข้อมูลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นถึงประสิทธิภาพที่ดี ดังนั้นการใช้โคเอนไซม์คิวเทนเพื่อลดอาการข้างเคียง เช่น ปวดกล้ามเนื้อก็น่าจะยอมรับได้และต้องศึกษาต่อไป น่าเสียดายที่ไม่เคยมีการศึกษาเป็นจริงเป็นจังในเรื่องนี้เลย จึงทำให้ไม่มีข้อมูลมากพอที่องค์กรแพทย์จะแนะนำให้เสริม โคเอนไซม์คิวเทน น่าเสียดายที่เรื่องง่ายๆ เช่นนี้ จะส่งผลทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันนี้ผู้คนหลายล้านคน ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่แข็งแรงดี ทั้งที่เป็นผู้สูงอายุ ต่างได้ยาลดไขมันนี้ต่อเนื่องหลายๆ ปี และทางแก้ที่จะบรรเทาผลทางลบก็ง่ายมากคือ เสริมโคเอนไซม์คิวเทนในผู้ที่ต้องใช้ยาลดไขมันนี้

            Beatrice Colomb, MD, PhD รองศาสตราจารย์โรคหัวใจแห่ง UC San Diego และเป็นหัวหน้าคณะวิจัย UC San Diego’s Statin Study รายงานไว้ใน American Journal of Cardiovascular Drugs 2009 จาก Review เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องยาลดไขมัน 900 ชิ้น ทั้งที่เป็นงานทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและกาศึกษาทางคลินิก การศึกษาพบว่ารายงานผลข้างเคียงมีมากกว่าที่คิด ดังเช่น ปัญหาทางกล้ามเนื้อ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ตึงแขนขาเป็นอาการที่พบมากที่สุด และมีอาการปลายประสาทอักเสบ เช่น ปวด ชา ตามปลายมือ ปลายเท้า ก็มีรายงานอย่างกว้างข้าง รวมทั้ง อาการเส้นเอ็นอักเสบเรื้องรัง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เบาหวาน ความจำเสื่อ ไตเสื่อม หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูงขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดไขมันด้วย

            การศึกษายังพบอีกว่าผลข้างเคียงนั้น พบสูงขึ้นอย่างมากในผู้ป่วยสูงอายุ และอาการเหล่านี้ อาจช่วยอธิบายว่าทำไมเราจึงไม่สามารถพิสูจน์ประโยชน์ของยาสแตตินได้และนอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงจากการได้รับยาตัวนี้ด้วย ในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะมีโรคหัวใจด้วยก็ตาม (แปลว่าไม่ควรให้ยาลดไขมัน แม้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดหากอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป)

            การศึกษานี้ ยังเปิดเผยว่าแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงผลข้างเคียงต่างๆ เหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดแล้วว่ายาลดไขมันสแตตินส่งผลทำลายดีเอนเอของโรงงานผลิตพลังงานไมโตคอนเดรียผลเสียหายต่อไมโตคอนเดรียจะเกิดมากขึ้นๆ เมื่อใช้ยาลดไขมันสแตตินต่อไปเป็นเวลานานๆ หรือหากผู้ป่วยอยู่ในภาวะไมโตคอนเดรียเสื่อม ซึ่งผู้ป่วยเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยโคเอนไซม์คิวเทนในร่างกายที่เหลืออยู่ แต่ยาลดไขมันสแตตินไปยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์คิวเทนทำให้ไมโตคอนเดรียเสื่อมมากขึ้นและส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เราพบว่ายิ่งใช้สแตตินขนาดสูงขึ้นหรือยาที่แรงขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆ มากขึ้น Dr.Golomb ยังกล่าวถึงการใช้โคเอนไซม์คิวเทนว่ามีข้อมูลที่เป็นแบบสังเกตการณ์และการศึกษาทางคลินิกไม่มากที่กล่าวถึงประสิทธิภาพของโคเอนไซม์คิวเทนต่อการลดอาการข้างเคียงทั้งๆ ที่มันจะต้องกล่าวถึงมากกว่านี้ และสมควรต้องโน้ตไว้ว่า โคเอนไซม์คิวเทนในรูปแบบต่างๆ มีเภสัชจลนศาสตร์ที่แตกต่างกันอย่างมาก (หมายถึงการดูดซึมและระดับยาในเลือดหลังรับประทาน แตกต่างกันอย่างมากหากจะเลือกใช้โคเอนไซม์คิวเทน ต้องคำนึงถึงรูปแบบและยี่ห้อด้วย)


.....................................................................................................................................................

หมายเหตุ – การศึกษาครั้งนี้ Dr.Golomb ได้รับทุน Robert Wood Johnson จากคณะแพทย์ ไม่ได้รับทุนที่มาจากบริษัทผลิตยาลดไขมันเหมือนกับการศึกษาใหญ่ๆ ทั้งหมดที่ป่านมา ของยาลดไขมันที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

.....................................................................................................................................................


เรื่องนี้ไม่ใช้ว่าบริษัทยาจะไม่รู้ เพราะเป็นผู้วิจัยยาเองจึงเป็นผู้รู้ดีที่สุด ความจริงแล้ว MERK ได้จดสิทธิบัตรยาลดไขมันผสมโคเอนไซม์คิวเทนเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 1990 โดยในเอกสารสิทธิบัตรระบุว่า เพื่อใช้ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อสลายและเอนไซม์ตับสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากยาลดไขมันกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA Reductase อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้ไม่เคยผลิตออกมาจริง โดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริง ถ้าจะเดาก็อาจเป็นเพราะว่าหากผลิตออกมาก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับว่ายาลดไขมันนี้ มีผลข้างเคียงสูง

วิธีที่ดีที่สุดที่จะควบคุมไขมัน และป้องกันโรคหัวใจได้นั้น คือ การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ และธรรมดามาก เพราะ 75% ของคอเลสเตอรอลถูกสร้างมาจากตับโดยอิทธิพลของฮอร์โมน Insulin ดังนั้นถ้าเราควบคุมระดับ Insulin ได้เราก็จะสามารถควบคุมคอเลสเตอรอล และป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน


แนวทางในการควบคุม Cholesterol โดยไม่ต้องใช้ยา Statin สามารถทำได้ดังนี้

1.ลดการบริโภคแป้ง ข้าวขัดขาว และน้ำตาล ในมื้ออาหารของคุณ นี่เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะควบคุมระดับ Insulin ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุม Cholesterol และลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเบาหวาน ควรงดน้ำตาลทราย เครื่องดื่มที่รสหวาน และขนมหวานโดยสิ้นเชิง เพราะทำให้ระดับน้ำตาลสูงเร็วมาก และส่งผลให้อินซูลินสูงและฤทธิ์หนึ่งของอินซูลินคือ การเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นไขมันที่ตับแนะนำให้บริโภคอาหารที่ Glycemic index และ glycemic load ต่ำโดยดูได้จากในเวปไซต์ที่เกี่ยวข้องว่าอาหารแต่ละประเภทว่ามีค่าเหล่านี้มากน้อยเท่าไหร่

2.แบ่งมื้ออาหารให้ห่างจากกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ในช่วงมื้ออาหารห้ามทานของว่าง เพื่อให้ระดับอินซูลินลดลงมาเป็นปกติในระยะเวลายาวๆ และนานพอที่ร่างกายจะสามารถนำไขมันไปใช้

3.จำกัดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์และจำกัดแคลอรีต่อวันลง คือ ลดเนื้อสัตว์ และบริโภคไขมันดีคือโอเมก้า 3 เพิ่มขึ้น

4.งดไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันสัตว์ และงดไขมันปรุงแต่ง Trans Fat เช่น เนยขาว ขนมขบเคี้ยวต่างๆ และอาหารจานด่วน

5.เพิ่มอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและหัวใจในมื้ออาหาร เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว อาหารธรรมชาติที่สดใหม่ทุกวัน ไข่ไก่ ถั่วและเมล็ดธัญพืชต่างๆ

6.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในแต่ละวันหาทางเพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรี ในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้วิธีเดินแทนที่จะขึ้นลิฟต์ หรือถ้าอยู่ชั้น 7 ก็กดลิฟต์ไปชั้น 5 แล้วเดินอีกสองชั้น ออกกำลังกายง่ายๆ เช่น ท่าวอร์มอัพมาตรฐานทุกวันในเวลาตื่นนอนให้ดื่มน้ำแล้วออกกำลังท่าวอร์มอัพก่อนอาบน้ำเป็นประจำ ยืดเส้นสายด้วยการเดินไปรอบๆ หรือวิดพื้นสิบครั้ง บนขอบโต๊ะในท่ายืนทุกหนึ่งชั่วโมงที่นั่งทำงาน

7.หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มสุราโดยเด็ดขาด

8.พักผ่อนโดยการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ



ก่อนจบเรื่องยาลดไขมันขอสรุปง่ายๆ ดังนี้ ยาลดไขมันจำเป็นและมีประโยชน์เฉพาะในผู้ที่มีภาวะไขมันสูงจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วนลงพุง วิถีชีวิตขาดการออกกำลังกายเท่านั้น นอกนั้นแล้ว สมควรไปแก้ไขที่ต้นเหตุมากกว่า และไม่ควรใช้ยาลดไขมันเพื่อการป้องกันหรือใช้ในผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงหรือใช้พร่ำเพรื่อเกินไป

การใช้ยาลดไขมันในปัจจุบันนี้ เรามุ่งเป้าไปที่การลดระดับของไขมัน LDL เป็นหลัก จึงทำให้เกิดการใช้ยาลดไขมันเกินความจำเป็นสมควรที่จะต้องเปลี่ยนเป้าหมายตัวชี้วัดจากระดับไขมันชนิด LDL ไปใช้เป็นตัวชี้วัดการอักเสบ hs-CRP กลับมาสู่ปกติแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือเพิ่มยาลดไขมันอีก แม้ว่าระดับของไขมัน LDL จะลดลง แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายก็ตาม

ผู้ที่รับประทานยาลดไขมันอยู่แล้ว ไม่ควรรีบร้อนหยุดยาเอง เพราะคุณอาจไม่รู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์และต้องเป็นแพทย์ที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีพอด้วย และควรทานโคเอนไซม์คิวเทนร่วมด้วย เนื่องจากมันไม่พิษและไม่ก่อให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากความจริงที่ว่าโคเอนไซม์คิวเทนในร่างกายลดลง เพราะยาลดไขมัน ส่งผลให้ไมโตคอนเดรียเสื่อม อย่างน้อยที่สุดการเสริมโคเอนไซม์คิวเทน ก็ช่วยปกป้องไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลังงานของเซลล์เอาไว้ได้

แถมท้ายด้วยการเลือกใช้โคเอนไซต์คิวเทน การศึกษาพบว่าในรูปแบบอัดเม็ด จะมีการดูดซึมต่ำที่สุด ส่วนในรูปแบบ Softgel มีการดูดซึมดีขึ้น และในรูปแบบ Q-gel ซึ่งเป็นสิทธิบัตร ช่วยการดูดซึมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ชนิดของโคเอนไซต์คิวเทน ก็มีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพโคเอนไซม์คิวเทน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบออซิไดซ์ คือ Ubiquinone และรูปแบบรีดิวซ์ คือ Ubiquinol ซึ่งรูปแบบ Ubiquinol มีการดูดซึมดีที่สุด



ทางเลือกอื่นในการควบคุมไขมันสูง

1.เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) ภายในร่างกาย

- ผู้ที่สูบบุหรี่สามารถสูบบุหรี่สามารถดูดซึมสารกัมมันตภาพรังสี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในนิวเคลียสของอะตอมชื่อ Polonium-210 (ได้มาจากปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ให้กับต้นยาสูบ) และ lead-210 เป็นสาเหตุให้มีการผลิตอนุมูลอิสระที่มากเกินไป

- ในใบยาสูบมีสารทาร์ (Tar) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระสามารถทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีน (Genetic Mutation) ส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งและการอุดตันของหลอดเลือดได้

- ควันบุหรี่ ในตัวบุหรี่มีสารที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผิวหนังเหี่ยวย่นอีกด้วย

- ควันบุหรี่มีสารพิษโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โพโลเนียม และอะเซนิก ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย

- ควันบุหรี่มีคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งทำให้ไปลดความสามารถในการนำออกซิเจนในเลือด และNitrous Oxidize ทำให้เกิดอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น


2.การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดฉับพลัน (Heart attack) เพราะในบุหรี่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดหดตัว ความดันในเลือดสูงขึ้นและการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันในเลือดสูงและเพิ่มระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์ในเลือด

3.ออกกำลังเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนให้ไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่ายกายได้ดีขึ้น เพิ่มการเผาผลาญแคลอรี และลดระดับของไขมันชนิด LDL, Dr.Patrick ได้แนะนำการออกกำลังกาย  “Wogging” คือ การออกกำลังกายแบบการเดิน และการวิ่งเหยาะๆ ซึ่งต้องเริ่มจากการเดินเร็ว เพื่อกระตุ้นร่างกายก่อนและจากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นไปสู่การวิ่งเหยาะๆ โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที การออกกำลังกายวิธีนี้ ถือว่าเป็นออกกำลังกายที่ง่าย สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย

4.งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สามารถเปลี่ยนไปเป็นสาร Acetaldehyde ซึ่งตามปกติแล้วร่างกายมีเอนไซม์ที่สามารถเผาผลาญได้ แต่ถ้ามีระดับแอลกอฮอล์ที่มากเกินหรือมีสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลายาวนาน มีผลทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่จะไปทำลายการผลิตเอนไซม์ที่ตับได้ และส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังได้

5.รับประทานสารอาหารและวิตามิน เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ ACE ช่วยควบคุมคอเลสเตอรอลได้ระดับหนึ่ง การรับประทานไฟเบอร์ช่วยขับคอเลสเตอรอลทางลำไส้เพิ่มขึ้น สารไฟโตสเตอรอลที่ได้จากพืช ช่วยลดการสร้างคอเลสเตอรอลที่ตับได้ วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน ลดระดับไขมันในเลือดได้แต่เนื่องจากต้องใช้ขนาดที่สูงจึงมีชนิดในรูปแบบที่ลดผลข้างเคียงคือ Niacin Hexanicotinate หรือ No flush niacin กรดอะมิโน เช่น อาร์จินีน สามารถแก้ไขภาวะหลอดเลือดเสื่อได้ เอนไซม์จากพืชบางชนิด ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดดีขึ้น ช่วยลดความหนืดและการก่อลิ่มเลือด เช่น Wobenzyme, Nattozyme

6.เรียนรู้หลักการผ่อนคลาย เช่น การฝึกสมาธิตลอดจนการเข้าสังคมและการเชื่อมสัมพันธภาพ การลดความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เป็นการลดระดับฮอร์โมนแห่งความเครียด ทำให้ลดการหดตัวของหลอดเลือด ลดความดันในเลือด ทั้งช่วยให้หายใจได้ลึกขึ้น และแลกเปลี่ยนอากาศได้ดีขึ้น

7.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

Dr.Cranton ได้แนะนำการบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และสามารถช่วยเพิ่มให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้นด้วยการรับประทานอาหารป้องกันอนุมูลอิสระ

- ลดการบริโภคอาหารที่เป็นไขมันอิ่มตัวและน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันที่เป็นไขมันอิ่มตัว

- งดน้ำตาลทราย ข้าวขัดขาว ลดอาหารจำพวกแป้งขัดขาว อาหารจำพวกนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็วและฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้นตาม ผลของฮอร์โมนอินซูลินประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นไขมัน

- รับประทานอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์

- ลดการบริโภคอาหารที่รสเค็ม

- รับประทานผักและผลไม้ที่สดปลอดสารพิษ สมาคมโรคหัวใจอเมริกันแนะนำว่าควรรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 7 ถ้วยเสิร์ฟ จึงจะเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

- จำกัดการดื่มนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ เนื่องจากมีระดับไขมันเป็นสนิม Peroxidation สูง หากต้องดื่มน้ำ ควรดื่มนม UHT Sterilization เนื่องจากความร้อนที่ใช้ส่งผลให้โมเลกุลบางอย่างคืนสภาพ และลดระดับ Lipid Peroxidation ลง

- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟจัด (หลายแก้วต่อวัน) โซดา และแอลกอฮอล์


8.เรียนรู้วิธีการประกอบอาหารต้านอนุมูลอิสระ คือ

- ไม่ควรปรุงอาหารโดยวิธีการปิ้ง ย่าง เพราะความร้อนจากการปิ้งย่าง ก่อให้เกิด Polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen)

- ไม่ควรปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด อาหารทอดด้วยน้ำมันความร้อนสูงจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อกรดไขมันนิดไม่อิ่มตัวในอาหารสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radical) นอกจากนี้ น้ำมันชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่ใช้ทอด เมื่อถูกความร้อนสูงจะกลายรูปเป็นสารโพลิเมอร์ ซึ่งส่งเสริมการอักเสบในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดได้รับอันตรายและก่อพลาค ทำให้พลาคไม่เสถียร และก่อลิ่มเลือด

- ไม่ปรุงอาหารจนสุกเกินไป และไม่ควรใช้ไมโครเวฟในการอุ่นอาหาร อาหารที่สุกมากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโมเลกุลเยอะ กลายเป็นผิดธรรมชาติมากเกินไป และเกิดโมเลกุลใหม่ๆ ที่เป็นอันตรายขึ้นมาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องครัวที่ทำจากอะลูมิเนียม ในชีวิตประจำวัน เราอาจไม่รู้เลยว่าอาหารที่เรารับประทาน หรือผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่มีอลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ เพราะแม้แต่ในยาลดกรรดในกระเพาะอาหาร (Antacid) ยาแอสไพรินแก้ปวดก็มีส่วนผสมเป็นอะลูมิเนียม สีผสมอาหาร ยาสีฟันโดยเฉพาะชนิดที่ทำให้ฟันขาว สารระงับกลิ่นเหงื่อ และสิ่งที่เรามักมองข้ามไปคือ ภาชนะที่เราใช้ประกอบอาหาร เช่น กระทะ หม้อ ซึ่งถ้าเรานำภาชนะเหล่านี้มาประกอบอาหาร นั่นหมายถึงการปนเปื้อนของโลหะอะลูมิเนียมในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป หรือแม้แต่การใช้ฟอยด์อะลูมิเนียมห่ออาหาร เช่นการเผาอาหารทะเล หรือการอบขนมหวาน และในอุตสาหกรรมน้ำอัดลมและนมก็มี การใช้กระป๋องหรือกล่องบรรจุที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบการได้รับสารประเภทนี้ เป็นประจำจะเกิดการสะสมในร่างกาย และเกิดการสลายที่ค่อนข้างช้ากว่าโลหะชนิดอื่น เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์และภาวะหลอดเลือดอุดตัน

ไขมันกับการอุดตันของหลอดเลือด


ไขมันกับการอุดตันของหลอดเลือด

            ในปัจจุบันโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ซึ่งจากการรับสื่อต่างๆ ที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนั้นมากจากคอเลสเตอรอล ซึ่งแท้จริงแล้วคอเลสเตอรอล ไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังโรคนี้แต่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดต่างหากมีรายงานการวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยข้อเท็จจริง ให้เห็นว่าผู้ป่วยในสหรัฐอเมริกาที่ประสบกับภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าครึ่งนั้น มีระดับของคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิวัติด้านการรักษาและป้องกันโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น แทนที่จะให้ความสำคัญกับการลดปริมาณคอเลสเตอรอลแต่เพียงอย่างเดียว ก็ต้องหันมาเข้าใจขั้นตอนที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบของเส้นเลือดการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ จึงมีความสำคัญต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ


            ในปัจจุบันมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากระบวนการอักเสบมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการก่อตัวของโรคเส้นเลือดตีบแข็ง รวมทั้งการแตกของคราบไขมันในรายที่เกิดเส้นเลือดอุดตันเฉียบพลัน โดยเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทางการแพทย์ยอมรับว่า การแตกของพลาค ชนิดอ่อนนิ่ม Soft Vulnerable Plaque ซึ่งมีเปลือกบางๆ และมีการอักเสบเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุหลักของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน

            ขบวนการเกิดพลาคชนิดอ่อนนิ่ม (Soft Vulnerable Plaque) เริ่มจาก LDL ในกระแสเลือด ถูกดูดซึมเข้าไปที่ผนังหลอดเลือด แล้วเกิดปฏิกิริยาสันดาป เนื่องจากว่าร่างกายมีภาวะสารอนุมูลอิสระสูง เช่น ภาวะสาพิษสารโลหะหนักในร่างกายเรื้อรัง ซึ่งจะกลายเป็นสารก่อการระคายเคือง แล้วเกิดการหลั่งสารส่งเสริมให้เกิดการอักเสบออกมาเมื่อมีการอักเสบจะไปเรียกเม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้อง คือ Monocyte ออกมา เม็ดเลือดขาวนี้จะแทรกเข้าไปในผนังหลอดเลือด แล้วกลายเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดเก็บกวาดคือ มาโครฟาจ ซึ่งจะเก็บกวาดไขมันเข้าไปในตัว กลายเป็นเซลล์อ้วนเรียกว่า Foam Cell ซึ่งข้างในเต็มไปด้วย LDL ที่ถูกสันดาปแล้วทำให้บางส่วนตายไป บางส่วนสร้างเอนไซม์ออกมาย่อยสลายเปลือกของคราบไขมัน ทำให้เปลือกบางลงและเสี่ยงต่อการแตกได้


            นักวิจัยได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าการอักเสบในหลอดเลือด จะเป็นต้นตอของทุกสิ่ง ที่นำไปสู่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากการศึกษา เราพบว่าพลาคชนิดนิ่มนี้ เกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น การศึกษาผู้ที่เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน พบพลาคชนิดนิ่มแตกสองจุด หรือมากกว่าสองจุขึ้นไป โดยพบ 50-79% จากการตรวจอัลตราซาวน์ของหลอดเลือดจากภายในผนังหลอดเลือดโดยตรง

            ปัญหาของโรคหัวใจ บางทีก็ไม่มีสัญญาณเตือน หรือไม่สามารถทราบก่อนล่วงหน้าได้ ซึ่งในบางคนนั้น ภายนอกอาจจะดูแข็งแรงปกติดี ไม่มีอาการแสดงใดๆ ทั้งการตรวจเลือดและวิ่งสายพาน ฯลฯ ก็ไม่พบความผิดปกติ หรือดูแล้วก็ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจอุดตันเฉียบพลันเลย มีกรณีศึกษาอยู่รายหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นนักบินมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และก่อนหน้าที่จะไปบินก็ได้ทำการตรวจร่างกาย โดยการประเมินการทำงานของหัวใจจากการวิ่งสายพาน ผลการตรวจพบว่า ร่างกายปกติดีทุกอย่าง แต่ปรากฏว่าในคืนก่อนที่จะขึ้นบิน ขณะที่รับประทานอาหารอยู่ ก็มีอาการจุกแน่นหน้าอกจนหมดสติ และสุดท้ายก็เสียชีวิต เพราะเพิ่งทำการตรวจร่างกายไป และผลการตรวจร่างกายก็ปกติดีทุกอย่างจึงตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพดู ก็พบว่ามีลิ่มเลือดอุดตันอยู่ที่หัวใจ

            เรื่องนี้ ทางแพทย์โรคหัวใจเอง บางทีก็ไม่เว้น แม้ว่าจะตรวจเช็คสุขภาพอย่างดี แม้จะเป็นนักวิ่งมาราธอน แต่หากไม่ได้ตรวจเช็คดูถึงระดับการอักเสบในร่างกาย ระดับของสารโลหะหนักสะสมด้วยการทำ Urine Challenge Test ตรวจเช็คระดับของอนุมูลอิสระ และสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น การตรวจ BAP/DROM Test แล้วบางทีก็อาจป่วยด้วยโรคลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจได้แบบเฉียบพลัน ดังที่เคยมีมาแล้ว


            ดังนั้น พลาคชนิดไม่เสถียร นิ่ม และแตกง่ายนี้ จึงไม่มีสัญญาณเตือน และตรวจไม่ได้ด้วยวิธีทั่วๆ ไป ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่มีอาการแสดงให้เห็น แม้ว่าจะทำการตรวจการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งสายพาน ก็ยังไม่พบความผิดปกติ เพราะเป็นการอักเสบของหลอดเลือด ซึ่งเลือดก็ยังมีการไหลเวียนตามปกติ แต่บริเวณที่เกิดการอักเสบ ผนังหลอดเลือดจะเปราะบางมาก และพร้อมจะแตกออกมาได้ตลอดเวลา ซึ่งผนังบางๆ แบบนี้ มีพลาคชนิดบางแบบไม่เสถียร ซึ่ง พลาคชนิดนี้ อันตรายมากที่สุดเพราะเมื่อแตกออกมา จะก่อให้เกิดลิ่มเลือดขนาดใหญ่ และภายในเวลา 2-3 วินาทีจากนั้นลิ่มเลือดก็จะไปอุดตันทำให้หัวใจขาดเลือดทันที เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตกะทันหันได้ ซึ่งปัจจุบันนี้แพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีประมาณ 70% ที่เกิดจากพลาคไม่เสถียร ก็คือการอักเสบนั่นเอง

            สาเหตุของการอักเสบของร่างกายนั้น ก็มาจากสารอนุมูลอิสระ ซึ่งสารอนุมูลอิสระก็มาจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา เช่น อากาศที่เราหายใจ อาหารที่เรารับประทานเข้าไปมีสารปนเปื้อน สารพิษโลหะหนัก เป็นต้น ซึ่งเมื่อสะสมในร่างกายและเป็นปัญหาโรคแห่งความเสื่อเรื้อรังต่างๆ ตามมา

ไขมันอิ่มตัวชนิดดีเป็นสิ่งที่ดีกับร่างกาย


ไขมันอิ่มตัวชนิดดีเป็นสิ่งที่ดีกับร่างกาย

            ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) โดยปกติจะอยู่ในรูปของแข็ง หรือกึ่งแข็งที่อุณหภูมิห้อง ซึ่งพบในไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันหมู ผลิตภัณฑ์ประเภทนม และในน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว นอกจากนี้ในขบวนการเติมไฮโดรเจนเข้ากับไขมันชนิดไม่อิ่มตัว จะทำให้ไขมันนั้นอิ่มตัวมากขึ้น ซึ่งไขมันชนิดอิ่มตัวจะทำให้ร่างกายผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น เป็นผลให้ระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น อันที่จริงแล้วในการเลือกรับประทานอาหาร เราควรคำนึงถึงปริมาณไขมันอิ่มตัวมากกว่าที่จะกังวลถึงปริมาณคลอเลสเตอรอลในอาหาร เนื่องจากไขมันชนิดอิ่มตัวจะกระตุ้นการผลิต LDL-คลอเลสเตอรอล ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มระดับคลอเลสเตอรอลในกระแสเลือดโดยตรง

            เป็นความจริงที่ไขมันอิ่มตัวส่วนมากทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แต่มีไขมันอิ่มตัวบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม หากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ พบว่าไม่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ในทางกลับกันยังทำให้ระดับของ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลดีเพิ่มขึ้น และระดับของ LDL ซึ่งเป็นคอเลสเตออลร้ายลดลง อันที่จริงน้ำมันมะพร้าวมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ คือมีอยู่แค่ 14 PPM ในขณะที่น้ำมันปาล์ม, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันข้าวโพด, เนยเหลว และน้ำมันหมู มีคอเลสเตอรอลอยู่ที่ 18, 28, 50, 3150 และ 3500 PPM ตามลำดับ (PPM=1 ส่วนในล้านส่วน)

            เพราะไขมันอิ่มตัวมีโมเลกุลที่จับกันอย่างแน่นหนา จึงไม่แปรสภาพหรือเสื่อมเสียได้ง่าย หากผสมน้ำมันมะพร้าวกับน้ำมันไม่อิ่มตัว น้ำมันมะพร้าวจะช่วยรักษาน้ำมันไม่อิ่มตัวนั้นให้พลอยไม่เสื่อมสภาพไปง่ายๆ ด้วย ปัจจุบันจึงมีการใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดดี ผสมลงในอาหารเพื่อเป็นการเก็บรักษาหรือการถนอมอาหาร ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ ข้อเสียของไขมันไม่อิ่มตัวคือ เสื่อมสภาพได้ง่ายนั่นเอง จึงต้องมีการนำไขมันไม่อิ่มตัวมาเพิ่มสารเคมีและให้ความร้อน ซึ่งเราเรียกว่าน้ำมันผ่านกรรมวิธี


การนำน้ำมันมาผ่านกรรมวิธีทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น แต่ทำให้การจับตัวของโมเลกุลกรดไขมันเปลี่ยนแปรไปเกิดเป็นกรดไขมันทรานส์ และไขมันทรานส์นี่เองที่เป็นโทษกับร่างกาย ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคหัวใจ สำหรับน้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัว จึงไม่จำเป็นต้องผ่านกรรมวิธี ทำให้ไม่มีกรดไขมันทรานส์


            ด้วยความที่น้ำมันมะพร้าวเป็นไขมันอิ่มตัวไม่เสื่อมสภาพหรือแปรสภาพได้ง่าย จึงไม่เปลี่ยนรูปเป็นไขมันทรานส์ที่เป็นสารก่อมะเร็งเมื่อต้องถูกกับความร้อน หากนำไปใช้เป็นน้ำมันทอดอาหาร ซึ่งแตกต่างจากน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังมีอัตราการเกิด                    โพลิเมอร์ต่ำ หมายถึง สารเหนียวที่เกิดจากการทอดด้วยไฟแรง และไม่เหม็นหืนง่ายเหมือนน้ำมันไม่อิ่มตัวทั่วๆ ไป นอกจากนี้แล้ว แร่ธาตุที่สำคัญและวิตามินบางชนิดต้องละลายในไขมัน เช่น แคลเซียม แม็กเนเซียม เบตาแคโรทีน วิตามิน A, D, E, K ล้วนต้องละลายในไขมันร่างกายจึงจะดูดซับไปใช้งานได้ คนเราจึงไม่สามารถขาดการบริโภคไขมันได้ และเนื่องจากน้ำมันมะพร้าวย่อยง่าย เปลี่ยนเป็นพลังงานได้เร็ว จึงช่วยนำแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ เหล่านี้เข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้นนั่นเอง

คอเลสเตอรอลเป็นเพื่อนหรือศัตรูต่อร่างกาย


คอเลสเตอรอลเป็นเพื่อนหรือศัตรูต่อร่างกาย

            คอเลสเตอรอล เป็นกลุ่มไขมันที่เป็นสาร ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ละลายน้ำ คอเลสเตอรอลเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต เนื่องจากร่างกายต้องใช้เป็นส่วนประกอบของโครงสร้างของผนังเซลล์ และเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน, โปรเจสเตอโรน, เทสโทสเตอโรน, อัลโดสโตโรน และคอร์ดิซอล นอกจากนี้ คอเลสเตอรอลยังใช้ในการสร้างวิตามินดี และน้ำดีสำหรับย่อยไขมันในอาหาร เป็นต้น ในระบบหมุนเวียนโลหิตคอเลสเตอรอล จะถูกหุ้มด้วยสารไลโพโปรตีน (Lipoproteins) ซึ่งจะทำหน้าที่ขนส่ง คอเลสเตอรอลไปตามกระแสโลหิต เพื่อส่งไปยังเซลล์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้งาน

            เนื่องจากคอเลสเตอรอล มีความสำคัญต่อร่างกายมาก จนกระทั่งร่างกายจำเป็นต้องมีขบวนการสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าจะมีคอเลสเตอรอลอยู่ในร่างกายเสมอ ขณะที่คอเลสเตอรอลอีกส่วนหนึ่ง ร่างกายจะได้จากอาหารจำพวก นม เนย ไข่ และเนื้อสัตว์ แต่เนื่องจากพืชไม่สร้างคอเลสเตอรอล ดังนั้นอาหารจำพวกพืชจึงปราศจากคอเลสเตอรอล

            ปกติร่างกายจะรักษาความสมดุลย์ของคอเลสเตอรอลให้คงที่เสมอ กล่าวคือ ถ้ากินอาหารพวกเนื้อสัตว์มาก ร่างกายก็จะลดการสร้างคอเลสเตอรอลลง ในทางตรงข้ามถ้ากินอาหารที่เป็นพืชมากร่างกายก็จะสร้างคอเลสเตอรอล เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย โดยคอเลสเตอรอลส่วนเกินจะถูกส่งไปที่ตับในน้ำดี และถูกกำจัดออกทางอุจจาระ การสูงขึ้นของระดับคอเลสเตอรอลที่ผิดปกติ มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ จากพันธุกรรม และพฤติกรรมการกินอาหารของแต่ละบุคคล และอาจรวมถึงสาเหตุอื่นด้วย เช่น การขาดการออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

            นักวิจัยจาก Texas A&M University ซึ่งมี ผศ.ดร. Steven Riechman จากภาควิชา Health และ kinesiology กับ Simon Sheather จากภาควิชาสถิติ ตลอดจนทีมนักวิจัยจาก Johns Hopkins Weight Management Center และ the Northern Ontario School of Medicine ได้ค้นพบว่า การที่มี คอเลสเตอรอลน้อยจะไปลดการเกิดกล้ามเนื้อเวลาออกกำลัง

            ทีมนักวิจัยได้ทดลองกับอาสาสมัคร ชาย-หญิงจำนวน 55 คน ที่มีสุขภาพดี อายุ 60-69 ปี โดยให้อาสาสมัครออกกำลังกาย 3 วันต่อสัปดาห์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และเมื่อทดลองเสร็จสิ้น ทีมนักวิจัยค้นพบข้อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลง คอเลสเตอรอลต่อความแข็งแรง ได้ว่าพวกที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกลับมีการสร้างกล้ามเนื้อที่รวดเร็วและแข็งแรงซึ่งมีทีมนักวิจัยได้อธิบายว่าน่าจะเป็นเพราะ คอเลสเตอรอลมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอักเสบ โดยเป็นผลดีต่อกล้ามเนื้อทำให้ เซลล์กล้ามเนื้อเกิดการเกิดใหม่แทนเซลล์เดิมซึ่งอักเสบไป